เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 29 กรกฎาคม 2559 โดย นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส จำนวนผู้เข้าชม 2337 คน
วันที่ 29 กรกกฏาคม 2559 รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน อำนวยสิทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นายบรรจง อูปแก้ว ผู้รับผิดชอบโครงการ รวมถึงคณะกรรมการในการดำเนินโครงการ 6 กิจกรรมย่อย เข้าร่วมโครงการติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียน โครงการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน/ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิจากท่านอุดม มณีขัติย์ รศ.สุทัศน์ จุลศรีไกรวัล รศ.ดร.อภิรักษ์ เพียรมงคล ดร.อรุณี ยศบุตร และนายเกรียงไกร ธารพรศรี รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน รวมถึงบุคลากรสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ร่วมตรวจเยี่ยมพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ ซึ่งได้ดำเนินงานปีที่ 3 ในงบประมาณ พ.ศ. 2559
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน กำหนดพื้นที่หมู่บ้านหาดผาขน ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เนื่องจากคนในชุมชนบ้านหาดผาขนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร แต่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกต้องในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว รวมถึงขาดองค์ความรู้ในการจัดการกับผลผลิตที่ได้เมื่อมีผลผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมศักยภาพด้านการวางแผนการผลิตให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างเป็นระบบและครบวงจร ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของคนในชุมชนบ้านหาดผาขน ส่วนใหญ่เพาะปลูกไม้ผลเป็นอาชีพหลัก โดยชนิดของไม้ผลเศรษฐกิจที่มีปลูกกันมากจนเป็นพืชหลัก คือ มะม่วง ลิ้นจี่และลำไย ซึ่งถึงแม้จะปลูกในพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลักและมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 780 ไร่ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและองค์ความรู้ด้านการจัดการสวนผลไม้ที่เกษตรกรมีอยู่ แต่ละปีบ้านหาดผาขนจึงมีผลผลิตของไม้ผลชนิดต่างๆ ออกมาจำหน่ายในปริมาณมาก ประกอบกับการพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลแหล่งอื่นๆในจังหวัดน่านก็มีผลผลิตของผลไม้ชนิดเดียวกันป้อนเข้าสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ นอกจากนี้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการก็ไม่สามารถจำหน่ายได้หมดเกิดการเน่าเสียไป ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมาคณะทำงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้เข้าไปช่วยให้ความรู้ให้เกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตไม้ผลโดยการนำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน จะช่วยให้สามารถทยอยนำผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของอำเภอภูเพียง และ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจังที่ต้องการสนับสนุนให้แต่ละชุมชนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนเพื่อลดการแข่งขันกันเองของแต่ละชุมชน จากการติดตามผลการดำเนินงานพบว่ามีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มแม่บ้านที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมและสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3ชนิด แต่ยังมีการผลิตในปริมาณที่ยังไม่มากเนื่องจากเลยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วจึงยังไม่มีปัญหาเรื่องการจัดจำหน่ายผลิต-ภัณฑ์ อย่างไรก็ตามในอนาคตถึงแม้จะมีการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นก็คาดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดเนื่องจากได้นำเสนอกิจกรรมนี้ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอภูเพียง ในการนี้นายอำเภอภูเพียงให้ความสนใจและให้คำชี้แนะตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล และอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถจำหน่ายได้คือจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งบ้านหาดผาขนมีความได้เปรียบชุมชนอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างยั่งยืน เนื่องจากบ้านหาดผาขนมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีลำน้ำน่านไหลผ่านกลางหมู่บ้านและมีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ที่คงความสมบูรณ์อยู่ บ้านหาดผาขน จึงเป็นหมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน ทั้งนี้บ้านหาดผาขนได้กำหนดอัตลักษณ์ของหมู่บ้านว่าเป็น “ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” โดยมีรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวอยู่สองแบบ คือ (1) กิจกรรมนั่งแพ และ/หรือ ล่องแพ (ในลำน้ำน่าน) ในพิกัดพื้นที่ที่กำหนดเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับผู้กำกับของ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (2) กิจกรรมโฮมสเตย์เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มโฮมสเตย์ มีรูปแบบการดำเนินการ โดยเป็นเครือข่ายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดการท่องเที่ยวในตัวเมืองน่าน ซึ่งจะมีการประสานงานมายังประธานกลุ่มโฮมสเตย์ ดังนั้นในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยก่อให้เกิดรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้จังหวัดน่านยังได้กำหนดให้บ้านหาดผาขนเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยวของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศแห่งหนึ่งของจังหวัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตามบ้านหาดผาขนยังไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและหรือ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP สำหรับนำไปวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งถ้าหากพัฒนาด้านการทำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ก็จะช่วยให้กิจการการท่องเที่ยวของบ้านหาดผาขนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นเช่น การปรับปรุงระบบสื่อความหมายให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน ได้นำนักศึกษาเข้าไปศึกษา ฝึกปฏิบัติและร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆให้กับคนในชุมชนบ้านหาดผาขนหลายด้านด้วยกันไม่ว่าจะเป็น การทำปศุสัตว์ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและบรรจุภัณฑ์ การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวแบบชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งการพัฒนาและเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดอยู่ของชุมชนนี้ ช่วยให้บ้านหาดผาขนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนของบ้านหาดผาขน
กิจกรรมที่ดำเนินงานแล้ว ประกอบด้วย
1. กิจกรรมการเสริมศักยภาพเกษตรกรบ้านหาดผาขน ส่งเสริมการทำฟาร์มปศุสัตว์และการแปรรูปเนื้อไก่
2. กิจกรรมการเสริมศักยภาพเกษตรกรบ้านหาดผาขน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลไม้ท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP
3. กิจกรรมการเสริมศักยภาพเกษตรกรบ้านหาดผาขน พัฒนาพลังงานเสริมสำหรับโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
4. กิจกรรมการเสริมศักยภาพเกษตรกรบ้านหาดผาขน พัฒนาบรรจุภัณฑ์สู่ตลาดการท่องเที่ยวและผู้บริโภคในท้องถิ่น
5. กิจกรรม การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม พัฒนาระบบสื่อหมายแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
6. กิจกรรม การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว
เรื่อง : นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส
ภาพ : นายจักรรินทร์ ชื่นสมบัติ
คลังรูปภาพ : ติดตามประเมินผลโครงการยกระดับฯบ้านหาดผาขน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา