โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมประชุมหารือการขับเคลื่อนโครงการ MOVE จังหวัดแม่ฮ่องสอน และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อสนองพระราชดำริฯ | สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

มทร.ล้านนา ร่วมประชุมหารือการขับเคลื่อนโครงการ MOVE จังหวัดแม่ฮ่องสอน และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อสนองพระราชดำริฯ

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 25 มกราคม 2565 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 1667 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

วันที่ 24-28 มกราคม พ.ศ. 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจักร์ เมืองใจ รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน พร้อมด้วย ดร.รัตนพล พนมวัน ณ อยุทธยา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมอาหาร อาจารย์สังกัดสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร เป็นตัวแทนคณะทำงานวิชาการจาก มทร.ล้านนา เข้าร่วมประชุม และร่วมตรวจเยี่ยมชม/ติดตามงานโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่อำเภอสมเมย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 6 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับคณะทำงานทางวิชาการจากหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สภากาชาดไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย (MOVE) ที่มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคณะทำงานฯ 

 

ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกาชาด จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับบุคคลสำคัญต่างๆ อาทิ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะทำงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย นายกฤษฎา บุญราช ผช.เลขาธิการสภากาชาดไทย / ผอ.สล. (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผช.ผอ.สล. (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร) ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (ที่ปรึกษา มจธ.) นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผอ.เขตการศึกษาประถมศึกษา เขต 1 เขต 2 และ ผบ.กองกำกับการ ตชด.33 ผบ.ร้อย ตชด.ที่ 336 และ 337 รวมถึง ศึกษาธิการ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ได้เกิดทักษะและความตระหนัก ในการอ่าน การเขียน ภาษาไทยเพื่อการเรียนรู้ และการดำรงชีพ พัฒนาสร้างอาชีพ ในอนาคตต่อไป

 

ทั้งนี้กำหนดการในการลงพื้นที่ เพื่อการตรวจเยี่ยมประกอบไปด้วย
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่ลางิ้ว อ.แม่ลา อ.แม่ลาน้อย
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 โรงเรียนบ้านโพซอ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง, ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่เหลอ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565 โรงเรียนบ้านเลโคะ ต.สบเมย อ.สบเมย, โรงเรียนบ้านแม่แคะ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565 โรงเรียนบ้านผาเยอ ต.กองก๋อย อ.สบเมย

 

สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย (Mobility of Volunteer educations : Move) โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักเรียนด้านการอ่านการพูดและการเขียนภาษาไทยโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร โดยปฏิบัติการจริงในพื้นที่นำร่องจังหวัดน่าน ด้วยกลไกของ “ครูอาสาสมัคร” เพื่อให้ได้รูปแบบและวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการอ่านพูดและเขียนไทยของนักเรียนในถิ่นทุรกันดารที่สามารถนำไปขยายผลหรือปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆได้ เป็นการทำงานบนความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลักได้แก่สภากาชาดไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคณะทำงานฯ

 

ภาพ/ข่าว ผศ.ดร.วรจักร์ เมืองใจ, กลุ่มงานบริหารการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon